• 2828-2830 ถ.กรุงเทพ-นนทบุรี
    วงศ์สว่าง บางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
  • 02-912-0594
    aek_pisit@hotmail.com

บ้านทาวน์เฮ้าส์ต้องการเปลี่ยนหลังคาเป็นเมทัลชีท

กรณีบ้านทาวน์เฮ้าส์เก่า ส่วนใหญ่ด้านหน้าจะเป็นกระเบื้องโมเนีย กระเบื้องด้านหลังมักจะเป็นกระเบื้องลอนคู่ เมื่ออายุกระเบื้องหลังคาผ่านการใช้งานมาจนอายุ 30 ปี ส่วนใหญ่ทางบริษัทจะแนะนำให้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่ด้านหลังอย่างเดียว เนื่องจากกระเบื้องโมเนียด้านหน้าเป็นกระเบื้องคอนกรีตหนา อายุการใช้งานน่าจะได้ 50-60 ปี


แต่มีลูกค้าบางส่วนที่เปลี่ยนกระเบื้องด้านหลัง จากลอนคู่เป็นเมทัลชีท มีที่ควรคำนึงถึง คือ


1. โครงหลังคา หลังคาเมทัลชีทออกแบบมาสำหรับโครงสร้างสมัยใหม่ ซึ่งมักจะเป็นเหล็ก ดังนั้นอุปกรณ์ยึดแผ่นเมทัลชีท คือสกรูยึดแผ่นจึงออกแบบมาให้ยึดกับโครงเหล็กอย่างเดียว ยังไม่พบสกรูยึดเมทัลชีทที่ออกแบบเฉพาะสำหรับแปไม้ หากโครงหลังคาบ้านเป็นโครงไม้ ควรเป็นช่างที่มีประสบการณ์เพราะจะมีปัญหารั่วซึมตามมา


2. หากหลังคาด้านหน้าเป็นโมเนีย เปลี่ยนหลังคาด้านหลังเป็นเมทัลชีทมักพบปัญหา ตรงจุดเชื่อมระหว่างโมเนียกับเมทัลชีท ตามแนวสันหลัง เนื่องจากของเดิมครอบสันหลังคาจะใช้ปูนเพื่อเชื่อมแผ่นครอบสัน แต่ปูนจะนำมาเชื่อมกับเหล็ก( เมทัลชีท ) อาจมีปัญหาปูนไม่จับกับเหล็ก


3. แผ่นเมทัลชีทที่เลือก ควรเป็นแผ่นเมทัลชีทลอนสูง ไม่เกิน 1 นิ้ว เป็นแผ่นเคลือบสีเพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น และควรหนา 0.35 มม.ขี้นไป


4. ควรมีฉนวน PE เพื่อลดความร้อนและเสียงดัง แต่ถึงจะมีฉนวนแล้ว หลังคาเมทัลชีทยังร้อนเร็วและมากกว่าลอนคู่


5. มีเสียงดังกว่ากระเบื้องลอนคู่ หากเจ้าของบ้านเป็นผู้ที่ชอบห้องนอนที่เงียบสงบ เวลาฝนตกหนักตอนกลางคืน อาจดังจนนอนไม่หลับ


6. ลอนของแผ่นเมทัลชีท จะคนละลอนกับกระเบื้องลอนคู่ ควรยอมใช้แผ่นเมทัลชีทมากกว่าปกติ เพื่อสอดใต้แนวแผ่นกระเบื้องลอนคู่ของบ้านข้างๆ เพื่อป้องปัญหาน้ำย้อนเข้าช่วงรอยต่อบ้าน


7. แม้แต่แผ่นเมทัลชีทก็รั่วซึมได้ หลังคาเหล็กโรงงานก็พบปัญหาอยู่ทั่วไป ดังนั้นใช้เมทัลชีทกับหลังคาบ้านก็ต้องมีซ่อมบำรุงครับ แต่หากเป็นกระเบื้องลอนคู่ปกติ ช่างหลังคาจะมีวิธีขึ้นหลังคาจากช่องเปิดฝ้าเพดาน แต่หากเป็นเมทัลชีทจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ อาจจะมีงานตั้งนั่งร้านเพื่อขึ้นซ่อมบำรุงบนหลังคาครับ ดังนั้นเปลี่ยนเป็นเมทัลชีทนอกจากค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ตอนซ่อมบำรุงก็ค่าใช้จ่ายสูงกว่าเช่นกัน


จากเหตุผลข้างต้น กรุณาตรวจเช็คงบประมาณในกระเป๋าของท่าน และความเหมาะสมของบ้าน ความชอบ และสไตล์ของตัวท่านเองก่อนตัดสินใจ